วันจันทร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

วัดดอนศาลาหรือวัดดอนหลา ควนขนุน พัทลุง

“วัดดอนศาลา” หรือ”วัดดอนหลา” ตามสำเนียงภาษาปักษ์ใต้ ตั้งอยู่บนถนนสายทะเลน้อย-ควนขนุน(4048) ถ้าไปจาก อ.ควนขนุน ซอยแยกเข้าวัดจะอยู่ทางซ้ายมือ มีป้ายชื่อวัดมองเห็นถนัดและถ้ามาจากทะเลน้อย จะอยู่ทางขวามือ ห่างจากทางแยกเข้าวัดบ้านสวน ไม่กี่กิโลเมตร


พวกผมออกจากวัดบ้านสวน พอถึงปากซอยก็เลี้ยวซ้ายขึ้นถนนใหญ่ ขับรถไม่กี่อึดใจก็เลี้ยวขวาเข้าซอยมาไม่นาน ก็ถึง”วัดดอนหลา” บนถนนหน้าวัด และข้างวัดรู้สึกเงียบเหงา อาจจะเป็นเพราะว่าฝนตกตั้งแต่เช้าก็เป็นได้ จึงไม่มีใครออกมานอกบ้าน หรืออาจจะเป็นธรรมชาติของที่นี่เหมือนวัดบ้านนอกทั่วไป แถววัดจะไม่มีคนถ้าไม่ใช่วันพระหรือไม่มีงานอะไร


เงียบสงบ

ผมเลี้ยวรถเข้าไปจอดในลานวัด ที่แสนเงียบจนรู้สึกวังเวง พรรคพวกลงเดินไปที่อุโบสถ ส่วนผมเดินย้อนกลับมาทางประตูเข้าวัดเพราะสังเกตเห็นมีคนอยู่ 2-3คนกำลังทำอะไรสักอย่าง ในศาลาเล็กๆ

ผมเดินมาได้สักเล็กน้อย ก็มาคนเดินสวนเข้ามาทักทาย และถามผมว่า “มาจากไหน มีธุระอะไรหรือไม่?” ประมาณนี้

ผมตอบว่า “มาจากภูเก็ต แวะมาเยี่ยมชมวัดและกราบขอพรจากพระอาจารย์อดีตเจ้าอาวาสทั้งหลาย”

แกบอกว่า “เชิญตามสบาย แต่ตอนนี้เจ้าอาวาสไม่อยู่ เพิ่งจะออกไปเพื่ออุปบทให้นักบวชที่ต่างตำบล” แล้วแกก็ชักชวนผมให้เดินตามแกไป บอกว่าจะพาไปที่ ศาลารวมรูปปั้นของอดีตเจ้าอาวาส

ผมจึงเดินไปกับแก พร้อมกับชวนแกคุยไปพลาง

ผมถามแกว่า “เป็นกรรมการวัดอยู่ที่นี่หรือ?”

แกบอกว่า “ไม่ได้เป็น แต่ก็ช่วยงานอยู่ที่วัดนี่มานานกว่า 30 ปีแล้ว”

ผมจึงว่า “เป็นมรรคทายกซิ”

แกตอบว่า“ไอไหร พรรหนั่น” ...แปลว่า “ประมาณนั้น”

“กินอยู่ที่นี่เลยหรือ?” ผมชวนคุยต่อ

ทีนี้แกร่ายยาวเลย “กินที่นี่บางมื้อ แต่กลับไปทำกินและนอนที่บ้าน มีบ้านหลังใหญ่ อยู่คนเดียว เมียไปอยู่กับลูกที่กรุงเทพฯ ลูกๆทำงานสูงๆ(งานดีๆ)ทุกคน ผมไม่ลำบากไหร(อะไร)” น้ำเสียงมีความภาคภูมิใจ

ผมหาข้อมูลต่อว่า”เมื่อตอนสร้างจตุคาม คงได้หลายตังค์?”

“หม้าย(ไม่)เลย ไม่ได้เลย”แกปฏิเสธเสียงดัง คล้ายๆกับไม่พอใจคำถามของผม แต่ไม่ใช่

“อ้าว..ทำไมหละ ก็เห็นมรรคทายกที่วัดไหนๆ เขารวยกันทุกคน” ผมรุกต่อ

“ผมไม่อยากได้ของเขาหรอก ผมอยู่อย่างนี้ก็สบายดีแล้ว แต่ถ้าอาจารย์ ให้เป็นจตุคามผมก็เอาบ้าง” ต่อจากนั้นอะไร ต่อมิอะไร ก็พรั่งพรูออกมาจากปากของท่านมรรคทายก ยาวยืดเป็นไข่เขียดเลย

ซึ่งผมขอสงวนสิทธิ์ ไม่เล่าก็แล้วกัน

ท่านมรรคทายก พาผมไปดูโลงเก็บสังขารของ “พ่อท่านนำ ชินวโร” (ซึ่งไม่มีสังขารแล้ว)และแนะนำให้รู้จักรูปปั้นของเกจิอาจารย์แต่ละองค์ ที่นั่งปางสมาธิ รายอยู่ในนั้น พร้อมทั้งมีป้ายชื่อฉายา ติดไว้ทุกองค์ตามลำดับ ดังรูปด้านล่าง

--

---

---

---

---

---

***รายละเอียดและประวัติของพระอาจารย์แต่ละองค์ หาอ่านได้ตามเว็บไซต์ครับ ส่วนข้อมูล “วัดดอนหลา” ผมรวบรวมมาได้เล็กน้อย รายละเอียดอื่นๆ หาอ่านได้ตามเว็บไซต์ ทั่วไป***
***ขอบคุณเจ้าของข้อมูลจากหลายๆที่ไว้ ณ.ที่นี้ด้วย***

“วัดดอนศาลา”ตั้งอยู่ ม.8 ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง

วัดดอนศาลาสร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ.2033 จากคำบอกเล่ากล่าวต่อกันมาว่า ทางด้านทิศตะวันออกของวัดเป็นทางเดินของช้าง เจ้าเมืองไทรบุรีเดินทางผ่านมาทางนั้น แต่บังเอิญเกิดเจ็บป่วยกะทันหันและถึงแก่กรรมลงที่นี่ หลังจากจัดการเรื่องศพเสร็จเรียบร้อยแล้วบุตรของท่าน จึงได้สร้างศาลาไว้บนดอนเป็นที่ระลึกในวัดนี้ ชาวบ้านจึงถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเรียกต่อๆกันมาว่า “วัดดอนหลา” ตามสำเนียงปักษ์ใต้

ความโดดเด่นของวัดดอนศาลา

เจ้าอาวาสแห่งวัดดอนศาลาจากอดีตจนถึงปัจจุบันเป็นศิษย์สำนักเขาอ้อทั้งสิ้นซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของประชาชนทั้งใกล้และไกล เช่น

พระครูสิทธิยาภิรัต ( พ่อท่านเอียด ปทุมสโร )

พระอาจารย์นำ ชินวโร ( แก้วจันทร์ )

พระครูสิริวัฒนาการ

พระครูกาชาด ( ทอง เขมมโก )

เจ้าอาวาสองค์ที่กล่าวขวัญถึงกันมากของวัดดอนศาลา คือ พระอาจารย์นำ ชินวโร เป็นผู้มีจิตเมตตากรุณา มีอุเบกขา ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เป็นนิจและได้ช่วยเหลือเกื้อกูลสังคมโดยส่วนรวมอย่างสะม่ำเสมอ ที่สำคัญคือเป็นผู้ดำริให้เกิดการสร้างอุโบสถวัดดอนศาลาขึ้น ซึ่งยังได้ใช้เป็นที่ประกอบพิธีศาสนกิจอยู่จนถึงปัจจุบัน

พระอาจารย์นำได้ดำริจะสร้างอุโบสถสำหรับวัดดอนศาลา ตั้งแต่ พ.ศ.2513โดยได้ปรึกษาหารือกับบรรดาศิษย์ จัดการทอดกฐินบ้าง ทอดผ้าป่าบ้าง รวบรวมเงินจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคบ้าง จนกระทั่งสร้างสำเร็จเรียบร้อย เมื่อปี พ.ศ.2519

โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้เสด็จมาทรงยกช่อฟ้าเมื่อ พ.ศ.2515 และได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมสมทบสร้างอุโบสถ อีกทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จารึกพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร." ไว้ที่หน้าบันและขอบประตูหน้าต่างอุโบสถทุกบาน อีกทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์เป็นค่าจ้างให้ช่างฝีมือจากสำนักพระราชวังเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดไว้ภายในอุโบสถ อันเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ สวยงามยิ่ง ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พระอาจารย์นำ ชินวโร และชาวจังหวัดพัทลุงเป็นอย่างล้นเหลือ

พระอาจารย์นำ ชินวโร ได้ถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2519 เวลา 22.00 น. สิริอายุได้ 88 ปี 12 พรรษา และในปีพ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ พระราชทานเพลิงศพ และพระราชทานพระปรมาภิไธยย่อ "ภ.ป.ร." ประทับด้านหลังเหรียญที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ

***จบข้อมูล พอสังเขป***

พวกผมออกจากวัดดอนศาลามาเกือบเที่ยง แวะกินข้าวกันที่ ตลาดควนขนุน ด้วยรสชาติแกงของคนพัทลุงแท้ๆ ก่อนออกเดินทางต่อไป “วัดถ้ำสุมโน” บนถนนเพชรเกษม(สาย4)ก่อนขึ้นเขาพับผ้า

สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป สร้างสรรค์ ใช้คำสุภาพ