วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

พ่อท่านเอียดดำ อริยะวังโส วัดศาลาไพ นครศรีธรรมราช

พ่อท่านเอียดดำ อริยะวังโส หนึ่งในจำนวนหลายอาจารย์ของท่านขุนพันธ์รักษ์ ราชเดช
นายตำรวจมือปราบจอมขมังเวทย์อันเลื่องชื่อแห่งดินแดนทักษิณ

วัดศาลาไพ ตั้งอยู่ หมู่ที่ 4 ต.ท่างิ้ว อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

อุโบสถ หลังเล็กๆ ตามฐานะของวัดในชนบท
ซึ่งพอจะใช้ประกอบศาสนกิจได้ตามความจำเป็น


กุฏิไม้เก่าแก่ ซึ่งเคยเป็นที่จำวัดของพ่อท่านเอียดดำ
ขณะนี้ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา ยังขาดปัจจัยที่จะทำการปรับปรุงซ่อมแซม


บนกุฏิไม่มีพระภิกษุ


ระฆังทองเหลืองขนาดใหญ่ สันนิษฐานว่าน่าจะมีอายุเท่ากับวัดศาลาไพ



พระอธิการชม ปิยวัณโณ หรือพ่อท่านชม เป็นเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน พ่อท่านชมนับเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในนครศรีธรรมราช และมักจะ ได้รับนิมนต์ให้เข้าร่วมนั่งปลุกเสกวัตถุมงคลพิธีสำคัญบ่อยครั้ง


ศาลาประดิษฐานรูปปั้นพ่อท่านเอียดดำ กลางลานวัดศาลาไพ


รูปปั้นพ่อท่านเอียดดำ



ประวัติพ่อท่านเอียดดำ อริยะวังโส

พ่อท่านเอียดดำ ถือกำเนิดใน ตระกูลบุญเรือนที่บ้านทับชัน หมู่ 6 ต.นาเคียน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ห่างจากวัดศาลาไพ ไปทางทิศใต้ ประมาณ 5 กิโลเมตร

ชื่อบิดามารดาและวันเดือนปีเกิดยังไม่เป็นที่ชัดเจนนัก มีน้องสาวหนึ่ง คนชื่อว่านางเรือง บุญเรือน

เด็กชายเอียด ได้พรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ 12 ปี ที่วัดยวนแหล อุปสมบทเป็นพระที่วัดวังตะวันตก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โดยมี ท่านพระครูกาชาด เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า อริยวังโส

เมื่อพระภิกษุเอียดอุปสมบทได้ซักระยะหนึ่ง ท่านก็ออกธุดงค์ ไปตามป่าเขาต่าง ๆ ได้พบเจอแลกเปลี่ยนศึกษาวิชาอาคมกับพระอาจารย์ต่าง ๆ มากมาย ท่านธุดงค์ไปจนถึงเขตประเทศพม่า

หลังจากเดินทางกลับเข้าสู่เขต จ.นครศรีธรรมราช ก็ได้จำพรรษาตามวัดต่าง ๆ หลายแห่งจนในที่สุดก็เดินทางกลับมาบ้านเกิด ชาวบ้านญาติพี่น้องจึงขอให้ท่านอยู่จำพรรษาที่วัดศาลาไพซึ่งในขณะนั้นมีพ่อท่านเพชร ซึ่งเรืองเวทวิทยาคมยิ่งเป็นเจ้าอาวาส อยู่ช่วยทำนุบำรุงพัฒนาวัดและในยามว่างก็ได้ร่ำเรียนวิชาอาคมจากพ่อท่านเพชรจนกระทั่งเจนจบครบถ้วนสรรพวิชาการ จนกระทั่งในปี 2470 พ่อท่านเพชรได้ถึงแก่มรณภาพ ดังนั้นชาวบ้านจึงได้ขอให้พระภิกษุเอียดขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแทน

เนื่องจากขณะนั้นในละแวกใกล้เคียงมีเจ้าอาวาสชื่อเอียดอยู่สองรูป คือ พ่อท่านเอียดดำ วัดศาลาไพ และพ่อท่านเอียดดำ วัดโรงฆ้อง ซึ่งตั้งอยู่ไม่ห่างกันมากนัก

ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเรียกพ่อท่านเอียด วัดศาลาไพ ซึ่งมีสีผิวคล้ำดำกว่า ว่าพ่อท่านเอียดดำ ตั้งแต่นั้นมา

พ่อท่านเอียดดำได้นำความรู้ด้านไสยเวทที่เชี่ยวชาญการสงเคราะห์ญาติโยมจนชื่อเสียงกิติศัพท์โด่งดังไปกว้างไกล ดังนั้นในราวปี 2482 ชาวบ้านจึงขอให้ท่านสร้างวัตถุมงคลขึ้นบ้าง ซึ่งท่านได้สร้างเสือยันต์ผ้าประเจียดตะกรุดและเครื่องรางของขลังต่าง ๆ อีกทั้งมอบให้ นายไข่ คะงา ไปจัดทำเหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก ซึ่งสร้างจำนวนน้อยมาก วัตถุมงคลทั้งหมดพ่อท่านเอียดดำประกอบพิธีปลุกเสกเดี่ยวตามลำพัง ซึ่งในช่วงนั้นท่านขุนพันธ์รักษ์ ราชเดช ก็ได้ไปอยู่ช่วยเหลือตามกำลัง

เมื่อเสร็จพิธีกรรม ประจุพุทธาคมแล้ว พ่อท่านเอียดดำ ก็ได้แจกวัตถุมงคลให้แก่ผู้เลื่อมใสศรัทธา ซึ่งได้ปรากฏพุทธคุณ เป็นที่เลื่องลือ ความเก่งกล้าในวิชาคาถาอาคมของพ่อท่านเอียดดำเป็นที่กล่าวขานไปทั่วนครศรีธรรมราช แม้กระทั่งพ่อท่านเขียว วัดหรงบน อ.ปากพนัง ยังได้มาขอศึกษาวิชาอาคมจากท่าน ซึ่งในยุคถัดมาพ่อท่านเขียว วัดหรงบน ก็มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วประเทศ

ครั้นในปี 2484 ได้เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา กองทัพทหารญี่ปุ่นได้ยกกำลังพลขึ้นที่บ้านท่าแพ นครศรีธรรมราช ทหารไทยจากมณฑลทหารบกที่5 ได้ยกกำลังเข้าต่อต้านและในห้วงระยะนี้ เองเหล่าทหาร จึงมาขอวัตถุมงคลคุ้มภัย จากพ่อท่านเอียดดำ ซึ่งได้มอบให้ทุกราย เป็นผ้ายันต์บ้าง ตะกรุดบ้าง ปรากฏว่าบรรดาทหารที่มีวัตถุมงคลจากพ่อท่านเอียดดำติดกายอยู่รอดปลอดภัย บางรายโดนทหารญี่ปุ่นยิงจนล้มคว่ำ ยังลุกขึ้นสู้ต่อไปได้ เพราะยิงไม่เข้า จึงมีประโยคที่ว่า มีของดีพ่อท่านเอียดดำ แมลงวันไม่ได้กินเลือด เลื่องลือไปทั่วแดนทักษิณ

ในยุคนั้นละแวกวัดศาลาไพนับเป็นถิ่นคนดุ จนเรียกกันเป็นดงเสือแดนสิงห์ แต่พ่อท่านเอียดดำก็ใช้เมตตาธรรมอบรม สั่งสอนจนกระทั่งทุกคนประพฤติตนเป็นคนดีถ้วนหน้า

นอกจากจะเป็นเกจิผู้เรืองเวทแล้ว พ่อท่านเอียดดำยังเป็นนักพัฒนาจึงได้ทำนุบำรุงวัดศาลาไพจนรุ่งเรืองและยังได้ก่อสร้างโรงเรียนวัดศาลาไพในปี 2475

หลังจากที่ทำนุบำรุงวัดศาลาไพและก่อสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จ พ่อท่านเอียดดำจึงได้ตัดสินใจออกธุดงค์อีกครั้ง จนได้พบว่า วัดในเขียวซึ่งขณะนั้นอยู่ในสภาพทรุดโทรม จึงได้จำพรรษาทำนุบำรุงวัดในเขียวอีกแห่ง

วัดอ้ายเขียว หรือวัดในเขียว (คงคาวง) ปัจจุบันตั้งอยู่หมู่ 3 ต.ทอนหงส์ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2420 ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2497

ในระหว่างนั้นท่านได้ไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดศาลาไพและวัดในเขียวซึ่งเดินทางเท้าโดยเท้าเปล่า จนกระทั่งในปี 2486 เมื่อท่านพิจารณาเห็นว่าทางวัดศาลาไพได้เจริญรุ่งเรืองสมดังเจตนาแล้ว แต่ทางวัดในเขียวยังต้องพัฒนาอีกมาก จึงตัดสินย้ายมาอยู่วัดในเขียวเป็นการถาวร จนกระทั่งละสังขารที่วัดในเขียวในปี 2495 และทางวัดได้เก็บรักษาสังขารของท่านไว้จนถึงปี 2499 จึงได้ทำการฌาปณกิจ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นทั่วไป สร้างสรรค์ ใช้คำสุภาพ