วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

วัดบ้านสวน หนึ่งในสำนักไสยเวทย์ตักศิลาแห่งเขาอ้อ


วันที่ 17 มิ.ย. ก่อนเที่ยง เราออกจากวัดเขาอ้อ เลี้ยวขวาขึ้นถนนสาย 4048 ทางไป อ.ควนขนุน ไม่ถึง 10 นาที เราก็ ถึงปากทางเข้า “วัดบ้านสวน” ซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายมือ มีแผ่นป้ายไม้ขนาดใหญ่เขียนชื่อ “วัดบ้านสวน”ติดใว้ปากซอย
เลี้ยวซ้ายเข้าซอยเล็กๆ พอที่จะให้รถวิ่งสวนกันได้ ตลอดซอยเป็นชุมชนเล็กๆ มีบ้านเรือนอยู่ตลอดทั้งสองข้างถนน รวมทั้งโรงเรียน

ประมาณ 500 เมตร เราก็เลี้ยวเข้าประตูวัดบ้านสวน ที่ป้ายปากทางเข้าวัดเขียนเป็นภาษาอังกฤษ “Well Come” ผมเข้าใจว่า ในช่วงที่ จตุคาม-รามเทพกำลังเป็นที่นิยม คงจะมีผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสเป็นจำนวนมาก จากประเทศมาเลเซียและสิงค์โป เดินทางมาหาเช่าบูชา วัตถุมงคล ทางวัดจึงได้มีป้ายต้อนรับเป็นภาษาอังกฤษ

ที่ลานจอดรถมีรถจอดอยู่หลายคัน ที่วัดกำลังมีงานศพ รอบบริเวณด้านนอกและภายในศาลาการเปรียญมีชาวบ้านจำนวนมากมาร่วมงาน

หลังจากจอดรถที่เป็นพื้นดินเฉอะแฉะ เพราะน้ำจากฝนที่ยังตกปรอยๆ พวกเราเดินผ่านศาลาการเปรียญ ไปทางซ้ายมือเพื่อนมัสการ พระเจดีย์ อันเป็นจุดเด่นของวัดบ้านสวนขณะนี้


พระธาตุเจดีย์

“พระธาตุเจดีย์” เป็นผลงานการจัดสร้างของ พระครูขัตยาภรณ์เจ้าอาวาสวัดบ้านสวน เพื่อสนองเจตนาของพระครูพิพัฒน์สิริธร (หลวงพ่อคง) ที่ได้ปรารภไว้ก่อนมรณภาพและเพื่อเทิดพระเกรียติสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถในวาระที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา

“พระธาคุเจดีย์”เป็นอุโบสถ 2 ชั้น ชั้นล่างมีตำรายาสมุนไพรนานชนิด ซึ่งจะบันทึกไว้ที่เสาทุกต้นของอุโบสถ

ต่อจากนั้น ก็ไปยัง “สำนักพระอาจารย์คง” ที่อยู่ถัดไป ภายในมีรูปหล่อบูชารวมทั้งรายนามของเจ้าอาวาสรุ่นก่อนๆและพระเกจิรุ่นต่างๆที่มีความเกี่ยวข้องผูกพันกับวัด “เขาอ้อ” ทั้งในอดีตจนปัจจุบัน

"วัดบ้านสวน"จึงนับเป็นวัดสาขาหนึ่งของสำนักวัดเขาอ้อ เนื่องเพราะอดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านสวนต่างล้วนเป็นศิษย์สำนักวัดเขาอ้อทั้งสิ้น


ภายในสำนักพระอาจารย์คง

 

รายนามเจ้าอาวาสวัดบ้านสวน
ประวัติสังเขปของ “พระอาจารย์คง”

“พ่อท่านคง” หรือ พระครูพิพัฒน์สิริธร นั้น ท่านเป็นศิษย์ของพระอาจารย์เอียด วัดดอนศาลา

ตามประวัติของท่านที่ทางวัดบันทึกไว้และพิมพ์แจกเป็นอนุสรณ์ในพิธีผูก พัทธสีมา วัดบ้านสวน เมื่อวันที่ 4-5 เมษายน 2530

ได้กล่าวถึงประวัติของพ่อท่านคงไว้ว่า "พระครูพิพัฒน์สิริธร นามเดิมว่า คง นามสกุล มากหนู ได้ถือกำเนิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล ตรงกับวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2445 จ.ศ.1264 ร.ศ.121 ณ บ้านทุ่งสำโรง หมู่ที่ 8 ตำบล นาขยาด อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นบุตรของ นายสง มากหนู และ นางแย้ม มากหนู มีพี่น้องท้องเดียวกัน 4 คน คือ

1. นายปลอด มากหนู

2. นายกล่ำ มากหนู

3. นายกราย มากหนู

4. นายคง มากหนู หรือ พระครูพิพัฒน์สิริธร ในเวลาต่อมา
วัยเยาว์

บิดา มารดาได้ถึงแก่กรรมเมื่อเด็กชายคงยังอยู่ในวัยเยาว์ จึงตกอยู่ในอุปการะของ นายชู และ นางแก้ว เกตุนุ้ย ผู้เป็นญาติ เมื่อมีอายุพอสมควรแล้ว นายชูได้นำไปฝากกับพระครูสิทธิยาภิรัตน์(เอียด ปทุมสโร) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดดอนศาลา และเป็นเจ้าคณะตำบลมะกอกเหนืออยู่ในขณะนั้น เพื่อให้ศึกษาอักษรสมัย ในระยะแรกๆได้ศึกษาเล่าเรียนจากพระครูสิทธิยาภิรัตน์โดยตรง ต่อมาเมื่อทางวัดได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นแล้ว เด็กชายคงก็ได้เข้าศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนของวัดจนจบชั้นสูงสุดของการศึกษาสมัยนั้นเมื่อ พ.ศ.2462

บรรพชาและอุปสมบท

เมื่อเด็กชายคงมีอายุได้ 20 ปี มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดสุนทราวาส ต.ปันแต อ.ควนขนุน เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 8 ปี จอ ตรงกับวันที่ 3 กรกฎาคม 2464 โดยมี พระครูกาชาด(แก้ว)วัดพิกุลทอง ตำบลชะมวง อ.ควนขนุน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสิทธิยาภิรัตน์(เอียด ปทุมสโร)วัดดอนศาลา เป็น พระศีลาจารย์(ผู้ให้ศีล)

เมื่อบรรพชาแล้วได้กลับไปอยู่วัดดอนศาลากับพระครูสิทธิยาภิรัตน์ ผู้เป็นอาจารย์ และ ในปีต่อมาก็ได้รับการอุปสมบท เมื่อ วันพฤหัสบดี ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 8 ปี กุน ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน 2466 ณ วัดดอนศาลา โดยมีพระครูกาชาด(แก้ว) วัดพิกุลทอง ต.ชะมวง อ.ควนขนุน เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการหนู วัดเกาะยาง ต.นาขยาด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการไชยแก้ว วัดป่าตอ ต.โตนดด้วน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า "สิริมโต" และคงอยู่ที่วัดดอนศาลาตามเดิม

เมื่ออุปสมบทแล้ว พระคง สิริมโต ได้ไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมที่วัดพิกุลทอง จนสอบนักธรรมชั้นตรีได้ในปีนั้น ท่านตั้งใจจะศึกษาให้จบหลักสูตรนักธรรม แต่เนื่องจากท่านสุขภาพไม่ดี มักจะเจ็บป่วยอยู่เสมอ ประกอบกับในสมัยนั้นการหาครูสอนพระปริยัติธรรมไม่ง่ายนัก จึงเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาของท่าน

นอกจากท่านได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแล้ว ท่านยังสนใจศึกษาวิชาทางด้านไสยศาสตร์อีกด้วย และท่านก็ได้ศึกษาจากพระครูสิทธิยาภิรัตน์(เอียด) ผู้เป็นอาจารย์ของท่านนั้นเอง ท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาแขนงนี้จากอาจารย์ของท่านจนมีความรู้แตกฉาน แต่ท่านก็ไม่พอใจอยู่แค่นั้น ได้พยายามศึกษาเพิ่มเติมจากตำหรับ ตำราไสยศาสตร์ของท่านอาจารย์ผู้เฒ่า วัดเขาอ้อ ซึ่งเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในวิชาไสยศาสตร์สมัยนั้น ท่านได้ศึกษาจนมีความรู้แตกฉานและทรงวิทยาคุณในวิชาแขนงนี้ จนในระยะหลังต่อมาท่านได้เป็นที่รู้จักและเคารพนับถือจากประชาชนทั่วไปทั้งในจังหวัดพัทลุงและจังหวัดใกล้เคียง มีลูกศิษย์ลุกหาอยู่ทั่วไป และต่างก็เรียกขานนามท่านว่า อาจารย์คง บ้าง หลวงพ่อคงบ้าง แม้ในสมัยหลังที่ท่านได้สมณศักดิ์เป็น พระครูพิพัฒน์สิริธร แล้ว ประชาชนทั่วไปรวมทั้งลูกศิษย์ของท่านก็ยังเรียกท่านว่า “อาจารย์คง”หรือ “หลวงพ่อคง”อยู่เช่นเดิม แทบจะไม่ได้ยินเรียกจากปากของผู้ใดว่า ท่านพระครูพิพัฒน์สิริธรเลย

ประวัติ “วัดบ้านสวน”

“วัดบ้านสวน” ตั้งอยู่ ม.6 ต.มะกอกเหนือ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เจ้าอาวาสท่านปัจจุบัน พระครูขันตยาภรณ์

“วัดบ้านสวน” สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2070 ตรงกับสมัยพระรามาธิบดีที่ 2 แห่งกรุงศรีอยุธยา
สันนิษฐานว่าพระปรมจารย์ผู้เฒ่า “วัดเขาอ้อ”และคณะพุทธบริษัทเป็นผู้ร่วมกันสร้างขึ้น

ความต่อมา เมื่อเสีย กรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 วัดบ้านสวน อาจรกร้างทำให้เอกสารหลักฐานต่างๆ สูญหายไป มาปรากฏแต่ในชั้นหลังภายหลังจากที่พ่อท่านสมภาร “นอโม” ซึ่งได้เดินทางมาศึกษาวิชาในสำนักวัดเขาอ้อ ต่อมาได้ออกเดินธุดงค์ในละแวกบ้านเขาอ้อ ดอนศาลา บ้านสวน และเห็นว่าที่บริเวณบ้านสวนเป็นเนินสูง มีวัดเก่าแก่รกร้าง ควรที่จะบูรณะ จึงได้ปักกลดบำเพ็ญธรรมอยู่ในบริเวณนั้น โดยเมื่อแรกได้สร้างกุฏิ ซึ่งมีปรากฏหลักฐานอยู่บริเวณทางทิศใต้ของวัด ภายหลังได้มีผู้ศรัทธาทำรั้วรอบขอบชิดเป็นขอบเขตของกุฏิไว้เป็นสัดส่วน หากปัจจุบันพระครูขันตยาภรณ์ (พรหม ขนฺติโก) เจ้าอาวาสวัดรูปปัจจุบัน ได้รื้อสร้างเป็นวิหารพ่อท่านสมภารนอโมเป็นที่ถาวรสถานแล้ว

พ่อท่านสมภาร “นอโม”ได้ทำนุบำรุงเสนาสนะและโบราณวัตถุต่างๆ ภายในวัดให้มีสภาพที่ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะโบสถ์ ทำด้วยไม้กลมแก่นของต้นหาด หลังคามุงจาก มีพระพุทธรูปองค์เล็กเป็นประธานอยู่ในโบสถ์ ต่อมาในสมัยพระฤทธิ์ อิสฺสโร ได้สร้างโบสถ์ใหม่คร่อม และหลังจากนั้นในสมัยพระครูพิพัฒน์สิริธร (คง สิริมโต) ได้รื้อหลังที่คร่อม แล้วสร้างโบสถ์หลังใหม่ขนาดใหญ่ 2 ชั้น

ในการสร้างอุโบสถใหม่ครั้งนี้ ได้มีการขุดลูกนิมิตเดิมที่ฝังไว้ ได้พบหัวนอโมในหลุมลูกนิมิตด้วย เป็นหัวนอโมสมัยกรุงศรีอยุธยา

พ่อท่านสมภารนอโม มีสามเณรรูปหนึ่งคอยติดตามรับใช้ ครั้งหนึ่งได้ธุดงค์ไปจำพรรษาโปรดสัตว์ยังภูเขาดิน ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของวัดบ้านสวน ใกล้บริเวณมีคลองอยู่เป็นสถานที่ลงล้างบาตรของพ่อท่านสมภารนอโม สามเณรได้นำบาตรลงล้างในคลองนี้ จึงเรียกติดปากชาวบ้านมาจนถึงปัจจุบันนี้ว่า "คลองศาลาเณร"
พิธีหุงข้าวเหนียวดำ

“พิธีหุงข้าวเหนียวดำ”นิยมทำพร้อมกับพิธีเสกน้ำมันงาดิบ ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "กินเหนียวกินมัน" แต่ละปีจะประกอบพิธีกิน 2 ครั้ง คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 และ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10

พิธีหุงข้าวเหนียวดำ หมายถึง การนำเครื่องยาสมุนไพร หรือว่านชนิดต่างๆ ไม่ต่ำกว่า 108 ชนิด มาผสมกันแล้วต้มเอาน้ำยามาใช้หุงข้าวเหนียวดำ ซึ่งข้าวเหนียวดำที่นำมาหุงนั้นเป็นข้าวเหนียวที่เรียกกันว่า “ข้าวเหนียวดำหมอ” คือมีลักษณะเมล็ดดำสนิท โต และแข็งกว่าเหนียวดำทั่วไป

การประกอบพิธีนิยมทำกันภายในอุโบสถมากกว่าสถานที่อื่นๆ หม้อและไม้ฟืนทุกอัน จะต้องลงอักขระเลขยันต์กำกับด้วยเสมอ พระอาจารย์ผู้ประกอบพิธีจะเริ่มปลุกเสก ตั้งแต่จุดไฟ จนกระทั่งข้าวเหนียวในหม้อสุก แล้วนำข้าวเหนียวที่สุกแล้วไปประกอบพิธีปลุกเสกอีกครั้งหนึ่งจนเสร็จพิธี

พิธีกินข้าวเหนียวดำ จะทำพิธีกันภายในอุโบสถ ก่อนกินถ้าสานุศิษย์คนใดไม่บริสุทธิ์ต้องทำพิธีสะเดาะ หรือเรียกว่า "พิธีการเกิดใหม่" หรือ "พิธีบริสุทธิ์ตัว" เพื่อให้ตัวเองบริสุทธิ์จากสิ่งไม่ดีชั่วร้ายทั้งปวง เมื่อถึงเวลาฤกษ์กินข้าวเหนียวดำ สานุศิษย์จะเปลี่ยนเครื่องแต่งกายเป็นนุ่งด้วยผ้าขาวม้าโจงกระเบนไม่ใส่เสื้อ แล้วเข้าไปกราบพระอาจารย์ผู้ประกอบพิธี 3 ครั้ง เสร็จแล้วพระอาจารย์จะให้นั่งชันเข่าบนหนังเสือ เท้าทั้ง 2 เหยียบบนเหล็กกล้าหรือเหล็กเพชร ปิดศีรษะด้วยหนังหมี มือทั้ง 2 วางบนหลังเท้าของตัวเอง พระอาจารย์ใช้มือซ้ายกดมือทั้ง 2 ไว้ พร้อมกับภาวนาพระคาถา ส่วนมือขวาปั้นข้าวเหนียวดำเป็นก้อนป้อนให้ศิษย์ครั้งละ 1 ก้อน แล้วปล่อยมือศิษย์ที่กดไว้บนเหลังเท้า มือทั้ง 2 ของศิษย์จะลูบขึ้นไปตั้งแต่หลังเท้าจนทั่วตัวจดใบหน้า การลูบขึ้นนี้เรียกว่า "การปลุก" เสร็จแล้วลูบลง เอามือทั้ง 2 ไปวางไว้บนหลังเท้าทั้ง 2 เช่นเดิม โดยกะประมาณว่ากินข้าวเหนียวก้อนแรกหมดพอดี สำหรับผู้ที่ไม่เคยกินอาจกลืนลำบาก เนื่องจากว่าข้าวเหนียวมีรสขมมาก บางคนป้อนก้อนแรกถึงกับอาเจียนออกมาก็มี แต่ถ้ากลืนก้อนแรกจนหมดได้ ก้อนต่อไปจะไม่มีปัญหา พระอาจารย์จะป้อนจนครบ 3 ก้อน ในแต่ละครั้งจะลูบขั้นลูบลง เช่นเดียวกับครั้งแรก แต่ครั้งที่ 3 นั้นเมื่อศิษย์กินข้าวเหนียวหมดแล้ว พระอาจารย์จะใช้มือซ้ายกดมือทั้ง 2 ไว้ที่เดิมหัวแม่มือขวาสะกดสะดือศิษย์ ทำทักษิณาวัตร 3 รอบ พร้อมกับภาวนาพระคาถาไปด้วย เป็นการผูกอาคม

สำหรับคุณค่าของการกินข้าวเหนียวดำ สานุศิษย์ของสำนักเขาอ้อ เชื่อกันว่าใครกินได้ถึง 3 ครั้ง จะทำให้อยู่ยงคงกระพันชาตรี เป็นมหานิยม และยังเป็นยาแก้โรคปวดหลังปวดเอวได้เป็นอย่างดี

“พิธีหุงข้าวเหนียวดำ” ตามตำรับสำนักเขาอ้อ เป็นการหุงด้วยน้ำว่านนานาชนิด เป็นยาอายุวัฒนะสามารถขับสารพิษต่างๆ ไม้ฟืนที่ใช้หุงทุกท่อนจะลงอาคม และก้อนเส้าที่ใช้วางหม้อก็จะลงอักขระทุกก้อน
(ข้อมูลบางส่วน จากหนังสือ "วัดดอนศาลา" โดย คุณธีระทัศน์ ยิ่งดำนุ่น และ คุณจำเริญ เขมานุวงศ์ขอขอบคุณ มา ณ.โอกาสนี้)



พวกเราอยู่ที่วัดบ้านสวน ไม่เกินครึ่งชั่วโมงก็ออกมาเพื่อไป “วัดดอนศาลา” ซึ่งอยู่ไม่ห่างไปมากนัก

พบกันใหม่ ที่ “วัดดอนศาลา” สวัสดี ชำนาญ ณ.อันดามัน

1 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ15 ธันวาคม 2555 เวลา 23:09

    ที่นี้รับแก้คุณไสยใช่ไหมค่ะ
    อยากหาวัดที่รับแก้คุณไสย
    ที่อยู่ในนครศรี ช่วยบอกหน่อยนะค่ะ

    ตอบลบ

ความคิดเห็นทั่วไป สร้างสรรค์ ใช้คำสุภาพ